ค้านคืนอำนาจ " แต่งตั้ง-โยกย้าย" ให้ " สพท." สมพงษ์ หวั่นซ้ำรอย เรียกรับผลกระโยชน์

  • หมวดหมู่ : การศึกษา วันที่ : 30 กันยายน 2564
  • เข้าดู : 837 ครั้ง

ค้านคืนอำนาจ แต่งตั้ง-โยกย้าย ให้ สพท. สมพงษ์ หวั่นซ้ำรอย เรียกรับผลกระโยชน์ แนะเพิ่ม ป.ป.ช.-ภาคปชช. ใน อ.ก.ค.ศ.แทน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบหลักการ แก้ไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย และการบริหารงานบุคคลให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 นั้น ส่วนตัวค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะเดิมการปรับโครงสร้างการศึกษาในส่วนภูมิภาค ยุบคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ตั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) เพื่อแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการเรียกร้องผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึง การพิจารณาโทษทางวินัยของข้าราชการในพื้นที่

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า หากจะคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้ สพท.สิ่งสำคัญคือต้องสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มข้น โดยอยากให้ศึกษาจากบทเรียนในอดีต และระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งเดิม อ.ก.ค.ศ.แต่ละจังหวัด จะมีคณะกรรมการชุดละ 9 คน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มสัดส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัด ตัวแทนภาคประชาชน รวมถึง เปิดเผยชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่อสาธารณะ ส่วนผู้อำนวยการ สพท.และ ศธจ.เป็นประธาน และเลขานุการ ให้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่การปรับโครงสร้างส่วนภูมิภาค เพิ่ม ศธจ.และ ศธจ.แต่เมื่อดำเนินการไปแล้ว ก็อยากให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษามากที่สุด การกลับมาคืนอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายให้เขตพื้นที่ฯ เหมือนกลับไปวนที่ปัญหาเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขณะที่มีการเพิ่มคน โดยตั้ง ศธจ.และ ศธภ.เป็นภาระกับงบประมาณระยะยาว หากเป็นเช่นนี้ การปฏิรูปการศึกษาคงไม่เดินหน้าไหน ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี การปรับสัดส่วนคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.ให้มีระบบตรวจสอบที่เป็นธรรม จะเป็นโอกาสดีในการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิภาค ลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจ ใช้จังหวัดเป็นฐานบริหารการจัดการศึกษา ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จะเกิดประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง

 

 

ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_2960830