" พาณิชย์" คาดคนสูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 14 ล้านคนในปี 63 เร่งพัฒนาธุรกิจบริการรองรับ
- หมวดหมู่ : ธุรกิจ วิทยาการ วันที่ : 23 กรกฎาคม 2560
- เข้าดู : 706 ครั้ง

พาณิชย์ จับมือสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทยเร่งพัฒนาธุรกิจให้มีคุณภาพมาตรฐาน และดึงบุคลากรมืออาชีพเข้าสู่ธุรกิจให้มากขึ้น รองรับการเติบโตของผู้สูงอายุ หลังคาดปี 63 ไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 14 ล้านคน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ทำแผนการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยจะเน้นการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งการสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) 3) และการสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล รวมทั้งการพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะให้กับบุคลากรที่ดูแลผู้สูงอายุให้มีความเป็นมืออาชีพและมีมาตรฐานในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น
การพัฒนาธุรกิจและบุคลากร เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2563 ไทยจะมีผู้สูงอายุราว 14 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรป (ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย : นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก) รวมถึงประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การพัฒนาธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นโอกาสในการให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังสามารถดึงดูดผู้สูงอายุจากต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาใช้บริการในไทยได้ด้วย เพราะไทยมีความได้เปรียบ เช่น คนไทยมีหัวใจรักบริการ ความสะดวกสบายในการรับบริการ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการมีความเหมาะสม มีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่หลากหลายสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล และที่สำคัญ ไทยมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งได้ออกเป็น 6 รูปแบบ คือ 1.ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเดย์แคร์ (Day Care) การบริการแบบเช้าไป-เย็นกลับ 2.ธุรกิจสถานบริการดูแลระยะยาว (Long Stay) โดยจะครอบคลุมการพักค้างคืน บริการอาหาร ทำความสะอาดเสื้อผ้าและร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้น เช่น บ้านพักคนชรา สถานที่ให้การช่วยเหลือในการดำรงชีวิต สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล สถานบริบาล สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 33.ที่อยู่อาศัยเฉพาะผู้สูงอายุ เป็นการบริการผู้สูงอายุหรือผู้ที่เตรียมเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เป็นการเช่าซื้อบ้านหรือห้องพักในระยะยาว โดยมากเป็นระยะเวลา 30 ปี หรืออยู่อาศัยจนสิ้นอายุขัย แต่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในบ้านนั้นเมื่อเสียชีวิต 4.บริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน 5.สถานสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุที่ยากจนไร้ญาติ ธุรกิจประเภทนี้ให้การสงเคราะห์ในเรื่องที่พักอาศัย และมีอาหารบริการ 3 มื้อ และ 6.สถานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้บริการตรวจสุขภาพและคำแนะนำในการส่งเสริมดูแลสุขภาพ
ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2560 มีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล จำนวน 169 ราย คิดเป็น 21.12% และบุคคลธรรมดา จำนวน 631 ราย คิดเป็นร้อยละ 78.88%
ที่มา Manager Online