นายกฯ แถลงจุดยืนลดภาระผู้ปกครอง-น.ร. จี้ ศธ. เตรียมความพร้อมเด็กท่ามกลางวิกฤต

  • หมวดหมู่ : การศึกษา วันที่ : 17 สิงหาคม 2564
  • เข้าดู : 224 ครั้ง

นายกฯ แถลงจุดยืนลดภาระผู้ปกครอง-น.ร. จี้ ศธ.เตรียมความพร้อมเด็กท่ามกลางวิกฤต ตรีนุช เร่งทุกแท่งวางแผนกระจายเงิน 2 พัน

วันที่ 16 สิงหาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแถลงข่าว จุดยืนลดภาระทางการศึกษา ผ่านระบบ ระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการณ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้บริหารระดับสูง ของ ศธ.เข้าร่วม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องปิดตัวลงทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เชื่อมโยงกิจการทางเศรษฐกิจ และสังคมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านการศึกษา ปัจจุบันการศึกษาในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน เป็นการสอนทางไกลให้นักเรียนเรียนที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพะาผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและไม่นิ่งนอนใจ และมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนถึงโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน และอินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับการศึกษา เพื่อลดผลกระทบต่อการศึกษาของเยาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็กทั่วประเทศได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่ออยู่ในสถานการณ์วิกฤตผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสการเรียนรู้

รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับปรับรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะองค์ความรู้ แต่ต้องสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์กับการประกอบอาชีพให้ได้ในภายภาคหน้า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมของให้ ศธ.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตลอดจนสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา ระบบอินเตอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการศึกษาที่บ้าน เพ่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และความรู้อย่างครบถ้วน สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมทั้งได้มีการปลูกฝังวินัย คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตนขอเน้นย้ำให้ใช้โอกาสตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ครู เด็ก ผู้ปกครองได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน ผ่านการเรียนแบบ Active learning สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เด็กสนใจแม้จะเรียนอยู่ที่บ้านก็ตาม ผู้ปกครองหลายท่านมีภาระ ผู้ปกครองหลายท่านก็สามารถดูแลเด็กได้ ทั้งนี้ อยู่ที่เด็ก อยู่ที่ครูว่าจะมีวิธีการสอนอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันต้องดูแลครู ให้ครูเตรียมความพร้อมรับการศึกษารูปแบบใหม่ในอนาคต เพราะนับวันโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นแม้สถานการณ์โควิด-19 จะยุติลงแล้ว

ผมให้แนวทางกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ไปแล้วหลายครั้ง ขอให้นำสิ่งที่ผมมอบนโยบายนำสู่การปฏิบัติให้ได้ มีการประเมินผล ทั้งครูทั้งเด็ก มีการเปลี่ยนแปลงปรับรูปแบบ ปรับหลักสูตร เอกสารตำราต่างๆ ให้มีความทันสมัย และสามารถที่จะสร้างแรงตระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าศึกษาไปเพื่ออะไร เพื่อให้มีงานทำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของครู เพื่อให้คนอื่นยอมรับ สิ่งสำคัญคือเมื่อเรียนทางวิชาการแล้ว ต้องสอนการเรียนรู้ด้านการปฏิบัติไปพร้อมกันด้วย ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยลดภาระผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา และขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง แม้ในสถานการณ์วิกฤตที่เราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กตั้งแต่วันนี้ ให้เด็กเข้มแข็ง เป็นคนดีของสังคม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน เคารพในสถาบันหลักของชาติ สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้มีอนาคต และประเทศชาติจะมั่งคงและยั่งยืนต่อไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้าน น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติในปัจจุบัน ศธ.ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ 3 มาตรการ ดังนั้น มาตรการที่ 1 การจ่ายเงิน เยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้

ขณะนี้การดำเนินการยังอยู่ในขบวนการทางราชการอยู่ เพราะ ศธ.จึงต้องรอเงินจากกระทรวงการคลัง จึงไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอนได้ แต่เมื่อกระทรวงการคลัง ส่งเงินมาให้ ศธ.แล้ว ศธ.จะเร่งกระจายเงินให้ผู้ปกครอง ภายใน 7 วัน โดยแต่ละหน่วยงานในสังกัด ศธ. ต้องไปหาวิธีการกระจายเงินให้ผู้ปกครองโดยเร็วและรอบคอบมากที่สุด เช่น สพฐ.จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนทุกคนที่ สพฐ.มีข้อมูลอยู่แล้ว สำหรับในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็จะจ่ายเงินสดให้กับทางผู้ปกครอง ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็ต้องหาวิธีในการจัดสรรเงินลงไปถึงตรงนักเรียนและผู้ปกครองด้วยวิธีที่รอบครอบและปลอดภัยที่สุด น.ส.ตรีนุชกล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า มาตรการที่ 2 อินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัด สอศ. และ กศน.ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึง 15 ตุลาคม 2564

โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่นๆ และแบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 79 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ น.ส.ตรีนุชกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า และมาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่างๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่างๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ส่วนการลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ รวมถึงการนับเวลาเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะนับเวลาเมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน หรือการออกกำลัง ซึ่งการนับเมื่อเกิดการเรียนรู้จะช่วยลดความตึงเครียด ให้ครูและนักเรียนได้จัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียว

 

 

ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_2887814